โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ (ญี่ปุ่น: ?? ?? ???? ???? Tokugawa Yoshinobu, สามารถอ่านได้อีกอย่างว่า โทะกุงะวะ เคกิ (Tokugawa Keiki) ?, 28 ตุลาคม ค.ศ. 1837 - 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913) เป็นโชกุนลำดับที่ 15 และโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะแห่งประเทศญี่ปุ่น
โยะชิโนะบุเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะมาหลายสมัย และได้เคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปรัฐบาลโชกุนซึ่งกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แต่จบลงด้วยความล้มเหลวอย่างรุนแรงยิ่ง ภายหลังเมื่อสละตำแหน่งและถวายอำนาจของโชกุนคืนแก่จักรพรรดิเมจิแล้ว โยะชิโนะบุได้เกษียณตนเองและใช้ชีวิตโดยหลบเลี่ยงจากสายตาของสาธารณชนตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี นับว่าเป็นโชกุนผู้มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ เกิดอยู่ที่นครเอะโดะ (โตเกียว) โดยเป็นบุตรคนที่ 7 ของโทะกุงะวะ นะริอะกิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ซึ่งแคว้นนี้นับเป็น 1 ใน 3 สายตระกูลสำคัญของตระกูลโทะกุงะวะ (โกะซังเคะ) ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งโชกุน
เมื่อแรกเกิดนั้น โยะชิโนะบุใช้ชื่อว่า "มะสึไดระ ชิจิโรมะ" และได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้นิยมการทหารอย่างเข้มงวด เขาได้รับการสั่งสอนในวิชาอักษรศาสตร์และศิลปะการป้องกันตัว ตลอดจนถึงการศึกษาหลักวิชารัฐศาสตร์และการปกครองตามธรรมเนียมดั้งเดิม
ด้วยการส่งเสริมของผู้เป็นบิดา ชิจิโรมะจึงได้รับการยอมรับเป็นบุตรบุญธรรมของสายตระกูลฮิโตะสึบะชิ อันเป็นตระกูลสำคัญหนึ่งตระกูลหนึ่งของตระกูลโทะกุงะวะ เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งโชกุนได้มากยิ่งขึ้น เขาได้อยู่ในตำแหน่งของผู้นำตระกูลในปี ค.ศ. 1847 พร้อมทั้งได้รับยศและราชทินนามจากราชสำนัก และไดรับการเปลี่ยนชื่อเป็น "โยะชิโนะบุ" ต่อมาเมื่อโทะกุงะวะ อิเอะซะดะ โชกุนลำดับที่ 13 ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1858 โยะชิโนะบุจึงได้ถูกเสนอชื่อในฐานะของผู้สืบทอดผู้มีศักยภาพในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนของเขาถูกโน้มน้าวใจด้วยความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ภายในตระกูล อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงการข้ามภายใต้การนำของอี นะโอะสุเกะ กลับเป็นฝ่ายชนะ โทะกุงะวะ โยะชิโตะมิ ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อของฝ่ายดังกล่าวได้ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งโชกุนคนที่ 14 ในชื่อ โทะกุงะวะ อิเอะโมะจิ หลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่กำลังเกิดการกวาดล้างศักราชอันเซ โยะชิโนะบุพร้อมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนก็ถูกลงโทษด้วยการกักตัวในบ้านพักประจำแคว้นที่นครเอะโดะ ตัวโยะชิโนะบุเองก็ถูกถอดจากฐานะผู้นำของตระกูลฮิโตะสึบะชิด้วย
ยุคแห่งการสำเร็จราชการแทนโชกุนของไทโร อี นะโอะสุเกะ เป็นที่จดจำจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดและการต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือด หลังการลอบสังหารอีที่ประตูซะกุระดะในปี ค.ศ. 1860 โยะชิโนะบุก็ได้รับคืนฐานะผู้นำตระกูลฮิโตะสึบะชิอีกครั้ง และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ดูแลโชกุน (ญี่ปุ่น: ????? sh?gun atomi-shoku โชงุง อะโตะมิ-โชะคุ ?) ในปี ค.ศ. 1862 และได้รับการแต่งตั้งภายในระยะเวลาอันสั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนั้เอง พันธมิตรที่ใกล้ชิดโยะชิโนะบุ 2 คน คือ มะสึไดระ โยะชินะงะ และมะสึไดระ คะตะโมะริ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งระดับสูงเช่นกัน โดยโยะชินะงะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมือง (ญี่ปุ่น: ????? seiji s?sai shoku เซญิ โซไซ โชะคุ ?) , ส่วนคะตะโมะริอยู่ในตำแหน่งผู้พิทักษ์พระนครเคียวโตะ (ญี่ปุ่น: ????? Kyoto Shugoshoku เคียวโตะชุโงะโชะคุ ?) . ในเวลาต่อมาบุรุษทั้งสามนี้ ได้มีบทบาทอย่างยิ่งในการปราบปรามเหตุไม่สงบทางการเมืองในกรุงเคียวโตะ และรวบรวมพันธมิตรต่างๆ เพื่อต่อต้านกิจกรรมของฝ่ายกบฏจากแคว้นโจชู นอกจากนี้ทั้งสามยังเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มการเมืองแนวทาง "โคบุ-กัตไต" (ประสานราชสำนักกับบะกุฟุ) ซึ่งพยายามหาทางทำให้ราชสำนักกับรัฐบาลโชกุนปรองดองกันด้วยการแต่งงานทางการเมือง
ในปี ค.ศ. 1864 โยะชิโนะบุในฐานผู้บัญชาการกองทหารล้อมวัง ประสบความสำเร็จในการขับไล่กองกำลังของแคว้นโจชูซึ่งพยายามยึดครองประตูฮะมะงุริของพระราชวังหลวงที่เคียวโตะ ปฏิบัติการดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการใช้กำลังทหารจากพันธมิตรระหว่างแคว้นไอสึกับแคว้นซะสึมะ
หลังมรณกรรมของโชกุนโทะกุงะวะ อิเอะโมะจิ อย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1866 โยะชิโนะบุถูกเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งเป็นโชกุนลำดับที่ 15 เขาเป็นโชกุนตระกูลโทะกุงะวะเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งอยู่นอกนครเอะโดะ เพราะเขาจะไม่มีโอกาสได้เหยียบย่างสู่ปราสาทเอะโดะเลยตลอดสมัยแห่งการเป็นโชกุน
ทันทีที่โยะชิโนะบุได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น มีการปฏิรูปรัฐบาลโชกุนครั้งใหญ่เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ในการสร้างโรงหล่อปืนใหญ่ที่เมืองโยะโกะซุกะ ภายใต้การอำนวยการของเลออองซ์ แวร์นี (Leonce Verny) และบรรดาผู้ติดตามจากคณะทูตทหารฝรั่งเศส เพื่อปรับปรุงกองทัพของบะกุฟุหรือรัฐบาลโชกุนให้มีความทันสมัย
กองทัพแห่งชาติทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ซึ่งรัฐบาลโชกุนได้ดำเนินการจัดตั้งมาก่อนอยู่แล้ว ก็ได้รับการเสริมกำลังโดยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส และการจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกา นักสังเกตการณ์จำนวนมากมองว่ารัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะกำลังวางรากฐานไปสู่การปรับปรุงฐานกำลังและอำนาจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะล้มเหลวลงในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี
ด้วยความหวาดกลัวเสริมความมั่นคงของรัฐบาลโชกุนภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาด ซะมุไรจากแคว้นซะสึมะ แคว้นโจชู และแคว้นโทะสะ ได้รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลใหม่ ภายใต้คำขวัญ "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน" ("ซนโนโจอิ") และผสมด้วยความกล้วว่าโชกุนผู้นี้จะเป็นเหมือนดั่ง "กำเนิดใหม่ของอิเอะยะสึ" ซึ่งจะช่วงชิงอำนาจจากจักรพรรดิสืบต่อไป ทั้งหมดจึงร่วมกันปฏิบัติการเพื่อนำมาซึ่งจุดจบของระบอบโชกุน แม้ว่าเป้าหมายในบั้นปลายของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคว้นโทะสะซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองสายกลางมากกว่าอีกสองแคว้น ได้เสนอการประนีประนอมโดยให้โชกุนโยะชิโนะบุยอมสละตำแหน่งของตนเสีย แต่ยังคงให้สิทธิเป็นประธานสภาปกครองประเทศชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นอันประกอบด้วยไดเมียวจากแคว้นต่างๆ ในที่สุดแล้ว ยะมะโนะอุจิ โทะโยะโนะริ ไดเมียวแห่งโทะสะ พร้อมด้วยโกะโต โชจิโร ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสนิท ก็ได้เรียกร้องให้โยะชิโนะบุลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้แนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
โยะชิโนะบุได้สละตำแหน่งในปลายปี ค.ศ. 1867 ยังผลคือการถวายอำนาจการปกครองบ้านเมืองคืนแก่จักรพรรดิอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นจึงมีการถอนกำลังรบของรัฐบาลโชกุนจากนครหลวงเคียวโตะมาประจำอยู่ที่เมืองโอซะกะ อย่างไรก็ตาม แคว้นซะสึมะและแคว้นโจชูถึงแม้จะสนับสนุนการจัดตั้งสภาไดเมียว แต่ก็คัดค้านในการให้โยะชิโนะบุขึ้นเป็นประธานสภาดังกล่าว ทั้งสองแคว้นได้รับราชโองการลับจากจักรพรรดิ ให้ใช้กำลังในการต่อต้านโยะชิโนะบุ (ซึ่งภายหลังได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นการปลอมเอกสาร) และเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากของทั้งสองแคว้นเข้าสู่กรุงเคียวโตะ มีการเรียกประชุมโดยฝ่ายราชสำนักเกิดขึ้น เพื่อริบยศศักดิ์และที่ดินทั้งหมดของโยะชิโนะบุ ถึงแม้ว่าจะไม่มีปฏิกิริยาใดที่อาจตีความได้ว่าฝ่ายโยะชิโนะบุจะทำความผิดหรือก่อความรุนแรงก็ตาม สำหรับผู้ที่คัดค้านการประชุมดังกล่าวก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย โยะชิโนะบุแสดงท่าทีคัดค้านและร่างหนังสือประท้วงเพื่อจะนำส่งไปยังราชสำนัก ด้วยการร้องขอของบริวารจากแคว้นไอสึ แคว้นคุนะวะ และแคว้นอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่เห็นด้วยส่วนน้อยนิดจากซะสึมะและโจชู โยะชิโนะบุได้เคลื่อนพลจำนวนมากไปกับตนเพื่อนำหนังสือดังกล่าวไปสู่ราชสำนัก
เมื่อกองทัพโทะกุงะวะมาถึงนอกเมืองเคียวโตะ ขบวนทัพทั้งหมดถูกยับยั้งไม่ให้เข้ามาในเขตพระนครหลวงและถูกโจมตีโดยทัพของซะสึมะและโจชู เปิดฉากการปะทะกันครั้งแรกของสงครามโบะชิงในยุทธการโทะบะ-ฟุชิมิ แม้กำลังของฝ่ายโทะกุงะวะจะเหนือกว่า แต่โยะชิโนะบุได้ละทิ้งกองทัพของตนท่ามกลางการต่อสู้เมื่อตระหนักว่าฝ่ายซะสึมะและโจชูต่อสู้ภายใต้ราชธวัชของพระจักรพรรดิ และหลบหนีไปยังนครเอะโดะ เขาได้กักกันตนเองให้อยู่แต่ในที่พัก และนำส่งหนังสือยอมสวามิภักดิ์ถวายแก่พระจักรพรรดิ ข้อตกลงสันติภาพได้ถูกส่งมายังโยชิโนะบุผ่านทางทะยะสึ คะเมะโนะสุเกะ ประมุขผู้เยาว์แห่งสาขาหนึ่งของตระกูลโทะกุงะวะ ผู้ซึ่งโยะชิโนะบุได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งให้เป็นประมุขของตระกูลโทะกุงะวะ ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1868 ปราสาทเอะโดะได้ถูกส่งมอบแก่กองทัพในสมเด็จพระจักรพรรดิ และเมืองเอะโดะทั้งเมืองได้ถูกเว้นจากการทำลายด้วยสงคราม
พร้อมกันกับคะเมะโนะสุเกะ (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โทะกุงะวะ อิเอะซะโตะ") โยะชิโนะบุได้ย้ายไปอยู่ที่ชิซุโอะกะ (ปัจจุบันเป็นเมืองเอกของจังหวัดชิซุโอะกะ) ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่โทะกุงะวะ อิเอะยะสึ ผู้สถาปนารัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะใช้ชีวิตหลังออกจากตำแหน่งโชกุนเมื่อหลายศตวรรษก่อน อิเอะซะโตะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดเมียวแห่งแคว้นชิซุโอะกะ แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็สูญเสียฐานะดังกล่าวไป เนื่องจากระบบแว่นแคว้นและระบบศักดินาแบบดั้งเดิมทั้งหมดถูกรัฐบาลเมจิยกเลิก
ฮะตะโมะโตะ (ซะมุไรผู้ขึ้นตรงต่อโชกุน) จำนวนมาก ได้ย้ายติดตามโยะชิโนะบุมาตั้งถิ่นฐานที่ชิซุโอะกะด้วย แต่ด้วยจำนวนฮะตะโมะโตะที่มีมาก ทำให้โยะชิโนะบุไม่สามารถหารายได้มาดูแลคนเหล่านี้ได้เพียงพอ ผลก็คือมีฮะตะโมะโตะจำนวนมากที่เกลียดชังโยะชิโนะบุ บางส่วนส่วนถึงขนาดต้องการจะเอาชีวิตเขาด้วยก็มี โยะชิโนะบุระมัดระวังตัวเองในเรื่องนี้และหวาดกลัวลอบสังหาร จนต้องคอยสลับตารางเวลานอนของตนเอง เพื่อสร้างความสับสนแก่บรรดามือสังหารที่อาจเข้ามาฆ่าตนได้ทุกเมื่อ
ภายหลังโยะชิโนะบุและครอบครัวทั้งหมด ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เอะโดะ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียว) ในปี ค.ศ. 1897 ตราบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
หลังการเกษียณตัวเองจากตำแหน่งทางการเมือง โยะชิโนะบุได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ โดยไม่เปิดเผยตัวแก่สาธารณะ และทุ่มเทกับการทำงานอดิเรกต่างๆ เช่น การวาดภาพสีน้ำมัน ยิงธนู ล่าสัตว์ ถ่ายรูป หรือขี่จักรยาน รูปถ่ายบางส่วนของเขาเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้จากโทะกุงะวะ โยะชิโตะโมะ ผู้เป็นทายาทชั้นเหลนของโยะชิโนะบุ
ในปี ค.ศ. 1902 จักรพรรดิเมจิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โยะชิโนะบุตั้งตระกูลของตนขึ้นใหม่ในฐานะตระกูลสาขาของตระกูลโทะกุงะวะ โดยได้รับพระราชทานยศเจ้าขุนนางชั้นสูงสุดคือ ชั้นโคชะคุ (เทียบเท่ากับคำว่า Prince หรือเจ้าชายในภาษาอังกฤษ) เพื่อเป็นบำเหน็จแก่การรับใช้ชาติญี่ปุ่นด้วยความภักดีของโยะชิโนะบุ
โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 เวลา 16:10 น. ในรัชสมัยของจักรพรรดิไทโช ร่างของเขาได้รับการฝังไว้ที่สุสานยะนะคะ กรุงโตเกียว
บุตรีคนที่ 9 ของโยะชิโนะบุ คือ "โทะกุงะวะ ซึเนะโกะ" (ค.ศ. 1882 – 1939) ได้อภิเษกสมรสกับจอมพลเรือ เจ้าชายฟุชิมิ ฮิโระยะสึ (เป็นพระญาติชั้นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่สองของจักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุน และเป็นพระนัดดาของเจ้าชายคังอิน โคะโตะฮิโตะ) เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1896